วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

14 วิธีเทคแคร์สุขภาพ & หัวใจ

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2545มีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovacular Disease-CVD) เป็นจำนวนมากถึง32,896 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน ในจำนวนนี้เพศชายมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยมีตัวแปรสำคัญคือ อายุที่เพิ่มขึ้น, ประวัติในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ (บิดา-มารดา และพี่น้องสายตรง), การสูบบุหรี่, คอเลสเตอรอลภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia), ความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวานและโรคอ้วน, ขาดการออกกำลังกาย อาการสำคัญของโรคนี้มักเกิดจากภาวะไขมันในเลือดที่ผิดปกติ ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เกิดเป็นตะกรันเกาะตัวหนาตามผนังหลอดเลือด นานเข้าหลอดเลือดจะปริกะเทาะ กระตุ้นให้เกล็ดเลือดมาเกาะรวมตัวกันในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลันจนมีโอกาสเสียชีวิต อ่านอาการกันมาถึงบรรทัดนี้ หลายคนชักกลัวใจตัวเองจะเสียหาย อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเรามีคำแนะนำ 14 ข้อที่ทำง่าย ได้สุขภาพใจมากมายมาฝาก

1. เดินออกกำลัง 30 นาทีทุกวัน ช่วยลดโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้ร้อยละ 30


2. ตรวจความดันเลือดเป็นประจำ และพยายามควบคุมให้ต่ำกว่า 115/75 ค่าความดันเลือดมีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าไขมันในเลือด (คอเลสเตอรอล) การออกกำลังเป็นประจำและการลดไขมันรอบพุง (รอบเอว) มีส่วนช่วยลดความดันเลือดได้


3. กินถั่วเปลือกแข็งวันละ 1 กำมือ จำพวกถั่วอัลมอนด์ เฮเซลนัท ถั่วเปลือกแข็ง ช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) มีน้ำมันชนิดดีมาก (โอเมกา-3) โปรตีน และเส้นใย (ไฟเบอร์) ให้เลือกถั่วชนิดไม่เติมเกลือจึงจะได้ผลดี


4. ตรวจไขมันในเลือด และพยายามทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) สูงกว่า 50 โดยการออกกำลังเป็นประจำ ใช้น้ำมันที่มีประโยชน์ เช่น น้ำมันมะกอก, น้ำมันคาโนลา, น้ำมันรำข้าว ปรุงอาหาร


5. ใช้ไหมขัดฟัน (Dental Floss) ทุกวัน เพื่อป้องกันคราบจุลินทรีย์ (Plaque) และโรคปริทนต์ หรือโรคเหงือก และเนื้อเยื่อรอบโคนฟันอักเสบ โรคปริทนต์ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง การอักเสบเรื้อรังปล่อยสารเคมีไปในเลือด ทำให้เส้นเลือดเสื่อมเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจ


6. กินเนื้อมะเขือเทศบดสัปดาห์ละ 10 ช้อนโต๊ะ หรือกินมะเขือเทศใน รูปแบบอื่น เช่น น้ำมะเขือเทศ ฯลฯ เพื่อให้ได้โพแทสเซียม (Potassium/K) เพียงพอ โพแทสเซียมมีส่วนช่วยป้องกันโรคความดันเลือดสูง และมะเร็งต่อมลูกหมาก


7. กินกรดไขมันอิ่มตัวไม่เกินวันละ 20 กรัม และกินไขมันแปลงสภาพ (ทรานส์/Transfat) ให้น้อยที่สุด


8. อ่านฉลากอาหาร (Food Label) เลือกอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ และเกลือต่ำ


9. กินผักและผลไม้วันละ 5 ทัพพี โดยเลือกให้มีสีหลากหลายต่างกันไปตามสีรุ้งได้แก่ ม่วง + คราม-น้ำเงิน + เขียว + เหลือง + แสดหรือส้ม + แดงและ สีขาว ซึ่งเป็นสีพืชพันธุ์เพื่ออายุยืนยาวได้แก่ หัวหอม, กล้วย


10. กินกระเทียมทุกวัน จากงานวิจัยพบว่า กระเทียมมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ เช่นลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในเลือด และผลการศึกษาจากประเทศเยอรมนี ยังระบุอีกว่ากระเทียมช่วยป้องกันและลดการเกาะตัวของคราบไขมันบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ


11. ดื่มน้ำส้มเป็นปะจำ ผลวิจัยล่าสุดของ 'คลีฟแลนด์คลินิก' ระบุว่าการดื่มน้ำส้มวันละ 2 แก้ว ช่วยลดความดันโลหิตและช่วยสร้างสมดุลของระบบการทำงานในหัวใจได้ดี


12. กินชาดำซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐ-อเมริกา กล่าวว่า การดื่มชาดำช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็น โรคหัวใจ เนื่องจากประกอบ ด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า ฟลาโวนอยด์ สารเคมีตัวนี้ช่วยป้องกันคอเลสเตอรอล ไม่ให้ทำลายเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจ


13. บริโภคหัวหอม ถนอมสุขภาพหัวใจ เนื่องเพราะในหัวหอมประกอบด้วยสารคิวเซทิน (Quercetin) พฤกษเคมี ที่ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย และหนึ่งในคุณประโยชน์คือ ลดการอักเสบของผนังเส้นเลือดที่ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต


14. ดื่มชาเขียวเสมอ จากการศึกษาพบว่าสารสำคัญในชาเขียวมีอยู่ 2 ชนิดคือ แคททิชินและธีอะฟลาวินส์ สารเหล่านี้จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการออกซิไดซ์ของแอล- ดีแอล คอเลสเตอรอลซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ยับยั้งการสร้าง Cyclo Oxygenase ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวของเกล็ดเลือด จึงเท่ากับเป็นการช่วยลดโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด อันเป็นสาเหตุของอาการโรคหัวใจได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น